วันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2552

องค์ความรู้

ความสัมพันธ์ของการตั้งถิ่นฐานกับสภาพแวดล้อม
เมื่อมนุษย์มีความสัมพันธ์กันและเกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน มนุษย์จะรวมตัวกันอยู่เป็นกลุ่ม สร้างบ้านเรือนแหล่งที่อยู่อาศัย ทำไร่ ทำนา เลี้ยงสัตว์ มีกิจกรรมร่วมกัน และมีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เมื่อเลือกสถานที่ที่จะตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัยแล้ว มนุษย์ก็เริ่มจัดการกับสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบ ๆ ตัว เพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการดำรงชีพ สิ่งแวดล้อมดังกล่าวสามารถแบ่งได้เป็น ๒ ประเภทใหญ่ ๆ คือ
๑) สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ได้แก่ อากาศ แม่น้ำ ลำคลอง ทะเลสาบ มหาสมุทร พื้นดิน แร่ธาตุ ภูเขา ป่าไม้ และสัตว์ป่า เป็นต้น
๒) สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น ได้แก่ บ้านเรือน โรงเรียน ถนน รถยนต์ เขื่อนกักเก็บน้ำ เป็นต้น รวมตลอดถึงขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ระบบเศรษฐกิจ และสังคมด้วย
สิ่งแวดล้อมเหล่านี้ประกอบกันขึ้นเป็นถิ่นฐานมนุษย์ โดยมีขนบธรรมเนียม ประเพณีระบบเศรษฐกิจและสังคมที่มนุษย์สร้างขึ้น และข้อจำกัดทางธรรมชาติเป็นกฎเกณฑ์ และเป็นหลักสำหรับการอยู่ร่วมกัน เพื่อให้การดำรงชีวิตเป็นไปอย่างผาสุก และให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
มนุษย์เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์จึงมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เราเรียกกันว่าระบบนิเวศ ผลกระทบนั้นเป็นไปได้ทั้งในทางทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น หรือในทางทำลายให้เลวลง แต่ถ้าเราไม่มีการวางแผนเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานแล้ว ย่อมทำให้สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมลง การตั้งถิ่นฐานที่ขาดการควบคุมย่อมก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการและเทคโนโลยี ก็เป็นปัจจัยอีกตัวหนึ่งที่ทำให้สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จากการที่เรามุ่งพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ขยายการก่อสร้างปัจจัยพื้นฐาน เช่น ถนน เขื่อน สนามบิน ท่าเรือ เป็นต้น การที่เราเร่งผลิตสินค้าและบริการให้ทันกับความต้องการของถิ่นฐานที่ขยายใหญ่ขึ้น เหล่านี้ทำให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นจำนวนมาก จากกระบวนการพัฒนาและผลิตนี้เอง ทำให้มีของเสียเหลือทิ้งออกมาในรูปต่าง ๆ เจือปนอยู่ในสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้ความสมดุลของธรรมชาติเสียไป
เมื่อสิ่งแวดล้อมถูกทำลายและมีของเสียปะปนอยู่เป็นจำนวนมาก สิ่งแวดล้อมก็จะอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมและอาจจะรุนแรงถึงขั้นเป็นพิษเป็นภัยได้ การที่สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมและเป็นพิษ จะมีผลโดยตรงต่อสุขภาพและอนามัยของมนุษย์ อีกทั้งการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่หยุดยั้งและไม่ระมัดระวัง จะทำให้ทรัพยากรธรรมชาติสูญสิ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ความเสื่อมโทรมของสิ่มแวดล้อมในปัจจุบันนี้มิได้เกิดขึ้นเฉพาะกับสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในรูปปัญหาทางสังคมอีก ซึ่งเป็นหน้าที่ของสมาชิกทุกคนยที่ตั้งถิ่นฐานอยู่จะต้องช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้อยู่ในสภาพที่ดี มีคุณภาพเพื่อจะได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อไปในวันข้างหน้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น